กิจกรรมของหน่วยคอบร้าโกลด์ 24

ผู้อำนวยการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ๒๒ ระดับ กองทัพเรือ และผู้บัญชาการกองกำลังทางเรือผสม เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Tele-Conference)

วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ พลเรือตรี อาภา ชพานนท์ ผู้อำนวยการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ๒๒ ระดับ กองทัพเรือ และผู้บัญชาการกองกำลังทางเรือผสม เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒ ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Tele-Conference) โดยมี พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนาย ไมเคิล ฮีธ (Michael Heath) อุปทูต รักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒
การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้การฝึกคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 41 เป็นวงรอบการฝึก Heavy Year มีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธร่วม/ผสม ประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน ๗ ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน ๓ ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน ๑๐ ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น ๒๐ ประเทศ ยอดผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน ๓,๔๖๐ นาย ประกอบด้วย ไทย ๑,๙๕๓ นาย สหรัฐอเมริกา ๑,๒๙๖ นาย สิงคโปร์ ๕๐ นาย อินโดนีเซีย ๑๖ นาย ญี่ปุ่น ๓๕ นาย สาธารณรัฐเกาหลี ๔๑ นาย มาเลเซีย ๓๖ นาย จีน ๑๐ นาย อินเดีย ๕ นาย และออสเตรเลีย ๑๘ นาย โดยใช้พื้นที่กองทัพภาคที่ ๑ กองทัพภาคที่ ๒ กองทัพภาคที่ ๓ และ บริเวณอ่าวไทยตอนบน เป็นพื้นที่การฝึกหลัก ในระหว่างวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ถึง ๔ มีนาคม ๒๕๖๕ ประกอบด้วย การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian/Civic Assistance : HCA) การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief Table Top Exercise : HADR-TTX) และการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ทั้งนี้ การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศในการปฏิบัติการร่วมและผสม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี ระหว่างทหารไทยและทหารมิตรประเทศกับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ และเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศและประชาคมโลก มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปี ๒๕๖๕ ได้มีการปรับลดกำลังพล จาก ๘,๙๖๔ นาย เหลือ ๓,๔๖๐ นาย และปรับรูปแบบการฝึกภาคสนาม โดยงดการฝึกร่วมขนาดใหญ่ของทั้ง ๓ เหล่าทัพ ได้แก่ การฝึกยกพลขึ้นบก การฝึกอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่การรบ และการฝึกดำเนินกลยุทธด้วยกระสุนจริง และคงการฝึกผสม ในระดับยุทธวิธีของทั้ง 3 เหล่าทัพ ในลักษณะการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ระดับไม่เกิน ๑ กองร้อย โดยไม่เกิน ๕๐๐ นายในแต่ละพื้นที่การฝึก เพื่อให้สอดรับกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวงสาธารณสุข และจังหวัดต่าง ๆ โดยกองทัพไทยกำหนดให้ใช้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อความปลอดภัยของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกฯ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยรอบการฝึกฯ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับการฝึกในปีที่ผ่านมา และนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เพราะผู้เข้าร่วมการฝึกฯ ไม่มีการติดเชื้อ COVID–19 เนื่องจากกองทัพไทยได้กำหนดมาตรการและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ก่อน ระหว่าง และหลังการฝึกฯ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒ แบ่งมาตรการเป็น ๓ ระยะ ดังนี้ก่อนเข้าประเทศ ผู้เข้ารับการฝึกจากมิตรประเทศ ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย ๒ เข็ม ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขอเข้าประเทศ Thailand Pass และตรวจสอบเอกสารขณะเข้าประเทศ (immigration) ไปจนถึงการเข้ารับการกักตัว ๗ วัน ตามที่ได้ทำการจองที่พักไว้ ระหว่างอยู่ในประเทศ แบ่งเป็น ๒ ห้วง คือ ห้วงการกักตัว (ASQ) และห้วงการฝึก ห้วงการกักตัว (ASQ) ผู้เข้ารับการฝึกทั้งฝ่ายไทยและมิตรประเทศต้องกักตัว ๗ วัน และตรวจคัดกรองแบบ RT-PCR จำนวน ๒ ครั้ง สำหรับห้วงการฝึก ใช้มาตรการ Bubble and Seal ในทุกพื้นที่การฝึก โดยจะคัดกรองผู้เข้ารับการฝึกทุกวัน และกำหนดให้มีการตรวจ ATK ทุก ๆ ๕ วัน หลังจากจบการฝึกฯ จะติดตามรายงานผลตรวจ COVID–19 หลังจากที่เดินทางเข้าประเทศตนเองเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้รับเชื้อจากประเทศไทย สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒ แบ่งเป็น ๓ ระดับ ประกอบด้วย ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนในระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพจากมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน และในระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของมิตรประเทศ และประชาคมโลก ทั้งนี้ เพื่อให้การฝึกคอบร้าโกลด์ ๒๒ เป็นการฝึกที่ปลอดภัย ไม่มีกำลังพลนายใดติดเชื้อ COVID – 19 แม้แต่นายเดียว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน มิตรประเทศ และประชาคมโลกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *